About Me

header ads

ฝึกโยคะ : ตอนที่3 การฝึกลมปราณ

การฝึกลมปราณ
โดย อาจารย์น้อมจิตร  เรียงสี

ทำไมจึงต้องฝึกลมปราณ ชีวิตเราจะอยู่ปกติได้ส่วนหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับลมหายใจ ดังนั้นเราจึงควรฝึกการหายใจให้ถูกต้องและมีคุณภาพ คุณภาพของลมหายใจนั้นก็ขึ้นอยู่กับ
  • อุปกรณ์  อวัยวะสำหรับการหายใจ
  • วัตถุดิบ   อากาศที่บริสุทธิ์ปราศจากมลพิษ
  • วิธีการ    ต้องหายใจอย่างถูกต้องเพื่อให้ได้รับอากาศที่ดีในปริมาณที่มากที่สุดและบรรจุในอวัยวะ สำหรับการหายใจอย่างเต็มที่

วิธีการฝึกหายใจมี 3 รูปแบบคือ
  1. การหายใจสลับรูจมูก
  2. การหายใจรูจมูกเดียว
  3. การหายใจโยคะสมบูรณ์แบบ

การฝึกเริ่มต้นสำหรับผู้ฝึกปราณยาม คือ การหายใจสลับรูจมูก โยคะถือว่าลมหายใจที่ผ่านเข้ารูจมูกขวานั้นเป็นลมหายใจร้อน เรียกว่า ช่องอาทิตย์ ส่วนรูจมูกซ้ายเป็นลมเย็นเรียกว่า ช่องจันทร์
การหายใจแบบรูจมูกเดียวและสลับรูจมูกประโยชน์ คือ
  • ทำความสะอาดกายและเพิ่มพลังประสาท
  • ทำความสะอาดรูจมูก
  • ขจัดความเครียดและความกังวล
  • ทำใจให้สงบ
  • แก้อาการปวดศีรษะ
  • เป็นการช่วยให้นั่งสมาธิได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยเพิ่มกำลังให้กับปอด
  • ช่วยเพิ่มกำลังในการย่อยอาหาร
  • ทำให้ระบบประสาทสงบเย็นและกระปรี้กระเปร่า
  • ช่วยระบาย ทำความสะอาดโพรงในกะโหลกศีรษะ
  • ทำให้สดชื่น เนื่องจากโลหิตได้รับออกซิเจนในปริมาณที่มากกว่าการหายใจปกติ

*** สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันผิดปกติ ในการฝึกห้ามกักลมหายใจ ***
    1. วิธีการหายใจแบบสลับรูจมูก
    แบ่งการฝึกเป็น 2 ขั้นตอนตอน
    เตรียม   ยกมือขวาขึ้นมา พับนิ้วชี้,กลาง,ก้อยใช้เฉพาะหัวแม่มือและนิ้วนาง
    ตอนที่1  (เข้าซ้าย-ออกขวา)
         -  หายใจออก     ด้วยรูจมูกทั้งสองข้าง แล้วใช้หัวแม่มือปิดรูจมูกขวา
         -  หายใจเข้า       ด้วยรูจมูกซ้าย กักลมหายใจ ปิดรูซ้ายด้วยนิ้วนาง
         -  หายใจออก     ด้วยรูจมูกขวา กักลมหายใจ แล้วปิดรูขวา
         -  หายใจเข้า       ด้วยรูจมูกซ้าย กักลมหายใจ แล้วปิดรูซ้าย
         -  หายใจออก     ด้วยรูจมูกขวา
    ตอนที่2  (เข้าขวา-ออกซ้าย) ทำตอนละ 15-30 ครั้งติดต่อกัน

    2. วิธีการหายใจรูจมูกเดียว
    เตรียม  ยกมือขวาขึ้นมา พับนิ้วชี้,กลาง,ก้อย ไว้ใช้เฉพาะนิ้วหัวแม่มือและนิ้วนาง
         -  หายใจออก  ด้วยรูจมูกทั้งสองข้าง แล้วปิดรูจมูกขวา
         -  หายใจเข้า   ด้วยรูจมูกซ้ายจนสุด แล้วหายใจออกจนสุดกักลม ปิดรูจมูกซ้าย
         -  หายใจเข้า   ด้วยรูจมูกขวาจนสุด แล้วหายใจออกจนสุด กักลม ปิดรูจมูกขวา              
         -  หายใจเข้า   ด้วยรูจมูกซ้ายจนสุด แล้วหายใจออกจนสุด กักลม ปิดรูจมูกซ้าย
             (หายใจเข้า-ออก ด้วยจมูกทีละข้างสลับไปมา) ทำติดต่อกันประมาณ 15-20 ครั้ง 

    3. การหายใจโยคะสมบูรณ์แบบ
    แบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน (ช่วงท้อง ช่วงอก ช่วงอกบน)
    วิธีการให้หายใจโดยการ หายใจเข้าท้องป่อง-ออกท้องแฟบ
    • ช่วงท้อง  หายใจออกช้าๆพร้อมแขม่วท้องให้ยุบจนสุด หายใจเข้าช้าๆ ดันผนังหน้าท้องให้ป่องออกมา
    • ช่วงอก หายใจออก เลื่อนซี่โครงให้ต่ำลง หายใจเข้าช้าๆในขณะเดียวกันเลื่อนซี่โครงทั้งสองข้างขึ้น หายใจออก เลื่อนซี่โครงให้ต่ำลง เป็นการบังคับลมให้ปล่อยออกช้าๆ
    • ช่วงอกบน หายใจออกช้าๆ ทำให้อกบนลด ช่วงไหล่จึงลดลงด้วย หายใจเข้าช้าๆ ยกกระดูกไหปลาร้า ทำให้ไหล่ยกขึ้นกำหนดเฉพาะอกบนหรือมีสติเฉพาะอกบนเท่านั้น ควรฝึกเช่นนี้วันละ 15-20 ครั้ง
    ผลทางอายุรเวทของการหายใจโยคะสมบูรณ์แบบนั้นก็คือ 
    เป็นการให้อากาศแก่ปอดอย่างสมบูรณ์สร้างความสมดุลจัดระบบการทำงานของหัวใจให้เป็นไปอย่างช้าๆลดความดันโลหิตสูง และกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร เพิ่มความรู้สึกเงียบและความรู้สึกปลอดภัย จากสิ่งทั้งมวลทำให้ร่างกายและจิตใจสงบลง
    • การหายใจระดับที่ 1 (ช่วงท้อง) มีผลดีต่อการพักผ่อนของหัวใจ ลดความดันโลหิตสูง กระตุ้นระบบการย่อยอาหารจัดระบบการย่อยของลำไส้ นวดกล้ามเนื้อภายในของอวัยวะภายในช่วงท้อง
    • การหายใจระดับที่ 2 (ช่วงอก) ทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆดีขึ้น เช่น  ตับ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ม้ามและไต
    • การหายใจระดับที่ 3 (ช่วงอกบน) ทำให้ขั้วปอดแข็งแรง ปรับความสมดุลให้กับหัวใจ หลอดลม แข็งแรง ปรับการทำงานของช่องคอให้สมดุล

    บทสรุป
    • การฝึกโยคะเป็นการฝึกจิต และพิชิตโรคจึงต้องเน้นลมปราณเข้าไปนวดอวัยวะภายในให้ฟื้นฟูจนมีประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น
    • โยคะเน้นการใช้ลมปราณประสานกับอาสนะ ถ้าท่านหายใจไม่เป็น จะทำอาสนะไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน
    • การฝึกลมปราณเป็นการฝึกเน้นลมหายใจที่ลึกและยาว จึงทำให้มีการขยายตัวของปอดมากขึ้น ระบบการหายใจมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น
    • การฝึกลมปราณจะทำไปพร้อมๆกับการบริหารกล้ามเนื้อเส้นเอ็นและกระดูก  เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย ได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง เพื่อพิจารณาหาข้อบกพร่อง ของตัวเองและแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นโดยใช้หลักของโยคะ

    ขอขอบคุณ : อาจารย์น้อมจิตร  เรียงสี
                        สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์




    แสดงความคิดเห็น

    0 ความคิดเห็น